ภาษาอารบิคในชีวิตประจำวัน
ถึงแม้คูเวตจะเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างกว้างก็ตาม แต่ถึงกระนั้นการใช้ชีวิตอยู่ประจำวันที่นี่ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ภาษาพื้นเมืองหรือภาษาอารบิคในการติดต่อสื่อสารและในหลาย ๆ ครั้งก็เป็นการง่ายกว่าใช้ภาษาอังกฤษเพราะนอกจากจะเข้าใจกันง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างความสนิทสนมใจต่อคนท้องถิ่นอีกด้วย แต่ไป ๆ มา ๆ การอยู่คูเวตจริง ๆ กลับทำให้รู้ว่าการเรียนรู้ภาษาอารบิคพื้นฐานกลายเป็น "ความจำเป็น" ต่อการดำรงชีวิตขึ้นมา เพราะหลายครั้งหลายทีเลยทีเดียว ที่ต้องพบปะพบเจอกับผู้คนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างอาชีพแอร์อย่างฉัน ถ้าสื่อสารภาษาอารบิคได้จะง่ายขึ้นกับการสื่อสารต่อผู้โดยสารมากทีเดียว ภาษาอารบิค เป็นภาษาของศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นโดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับพระเจ้าหรือพระอัลเลาะห์เป็นหลัก การเรียนรู้ภาษาอารบิคก็ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการผูกพันกับพระเจ้าของเขาได้มากขึ้นเลยทีเดียวล่ะค่ะ และยังมีการแยกเพศชาย/หญิงด้วยอีกต่างหาก โดยจะแยกตามผู้ที่พูด และนอกจากนั้นภาษาอารบิคที่ใช้กันยังแบ่งออกตามภูมิภาคไม่ใช่แค่สำเนียงต่างกันแต่คำบางคำที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงก็มีเยอะเหมือนกัน โดยจะมีภาษาอารบิคหลักเป็นภาษาเขียนซึ่งไม่ค่อยมีใครใช้กัน และจะแบ่งเป็นภาษาอารบิคในอ่าวกัลฟ์ ได้แก่ คูเวต การ์ต้า บาห์เรน เอมิเรต และภาษาอารบิคแบบอียิปต์ แบบซีเรีย แบบจอร์แดน แบบเลบานอน เป็นต้น ว่าแล้ว มาเริ่มเรียนภาษาอารบิคกันเลยดีกว่าค่ะ...
หมวดทักทาย/เบื้องต้น -As-salam alaykum (ซาลาม มาเลย์กุม) : สวัสดี หรือบางทีก็ใช้สั้น ๆ แค่ 'ซาลาม' ก็ได้ ใช้สวัสดีทั่ว ๆ ไป ความหมายตรงตัวแปลว่า Peace be onto you. แต่ถ้าจะทักกลับต้องทักว่า Wa alaykum e-salam (มาเลย์กุม ซาลาม) เวลาแขกทักทายกันจะเข้ามาจับมือกันและจุ๊บแก้มกันคนละสองที คือเอาแก้มขวาชนกันก่อนแล้วก็แก้มซ้ายเสียงดัง 'จ๊วบ ๆ' เลย ถ้ารักกันมากไม่เจอกันนานหน่อย ก็จุ๊บกันหลาย ๆ ทีเลย โดยส่วนใหญ่จะจุ๊บแค่ระหว่างเพศเดียวกันเท่านั้น -Ahlan (อาห์-ลัน) : Hi, หวัดดี ใช้ทักทายแบบไม่เป็นทางการ -Sabah al khair (ซาบา อา เข้) : สวัสดีตอนเช้า -Sabah al Noor (ซาบา อา นัว) : สวัสดีตอนเช้า-ใช้ทักกลับ -Shlonik (ชะ-โล-นิค : ถามผู้ชาย)Shlonich (ชะ-โล-นิช : ถามผู้หญิง) : สบายดีไหม? -Shaqqabarik/ch (ชะ-กะ-บา-ริค/ริช) : What's new? -Al-Ham Dullellah (อิ-ฮัมดูลล่า) : สบายดี คำนี้ความหมายดีค่ะ แปลว่า 'ขอบคุณอัลเลาะห์ที่ให้ฉันสบายดี' ประมาณนั้น นอกจากใช้ตอบคำถามว่าสบายดีหรือไม่แล้ว ยังใช้ขอบคุณพระอัลเลาะห์ในแบบทั่ว ๆ ไปด้วย เช่น I'm lucky that I've never had any accident before, Al-Ham Dullellah! เป็นต้น -Tammam (ตัมมัม) : สบายดี -Anna (อาน-นา) : ฉัน -Inta/Inti (อินตะ/อินตี : ช/ญ) : คุณ -Naam (นะ-อาม) : ใช่ -Laa (ล่ะ) : ไม่ -Shukran (ชุก-กรัน) : ขอบคุณ -Afwan (อัฟ-ฟลัน) : ไม่เป็นไร ยินดี -Asif (อา-ซีฟ) : ขอโทษ -Lo-Samah/samahti (โล-ซา-มะ/โล-ซา-มะ-ติ ช/ญ) : Excuse me! -Ma-Sallamah (มา-ซา-ลา-มะ) : ลาก่อน/แล้วพบกันใหม่ แปลตามตัวว่า With peace. -Chinu (ชินู) : อะไร? -Mute (มูเต) : เมื่อไหร่? -Chem (เช็ม) : เท่าไหร่? -When (เว็น) : อยู่ไหน? -Lech (เลช) : ทำไม?หมวดใช้บ่อย (Expression Phrase) -Yalla (ยัล-ล่าห์) : Let's go/ไปกันเถอะ คำนี้ใช้บ่อยมาก ๆ เป็นคำแรก ๆ ที่เรียนรู้ก่อนคำทักทายเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนก็ใช้ได้ -Kallas (คา-ลาส) : เสร็จ/จบ/สิ้น/พอ เป็นอีกคำที่ใช้บ่อยมากเหมือน ๆ กัน เช่น เวลาจะเก็บถาดผู้โดยสารก็ถามว่า "Kallas?" เสร็จหรือยัง? ผู้โดยตอบ "Kallas." เสร็จแล้วเก็บได้...ง่ายกว่ามายืนถามให้เมื่อยว่า "Do you finish, sir?" เป็นไหน ๆ -Shaoey (ชะ-ไวย์) : สักครู่/รอเดี๋ยว/ช้า ๆ แล้วเวลาพูดก็จะต้องทำมือเป็นเหมือนขนมจีบหงายขึ้น แล้วสะบัดข้อมือขึ้น ๆ ลง ๆ พูดซ้ำ ๆ ว่า "ฉะไวยะ ๆๆๆ" แปลว่า "ใจเย็นๆๆ (จะรีบไปตายเร๊อะ?)" เช่น เวลาผู้โดยสารเร่ง ๆ จะเอาอะไรเร็ว ๆ ก็ทำมือขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วบอก "Shaeoy, shaoey" -Allah-kalik (อา-ลา-คา-ลิค) : God helps you/God blesses you. คำนี้ไม่ใช่เวลาใช้อวยพรใคร แต่เวลาขอให้ใครช่วยอะไร มักจะพูดนำหน้าขึ้นมาก่อน หรือหลอกใช้นั่นเอง เช่น Allah-kalik, could you bring me the newspaper please? -Mabrook (มา-บรูก) : ยินดีด้วย - Congratulations! -Inshallah (อิน-ชา-อะ-ล่าห์) : ตามประสงค์ของพระเจ้า คำนี้ถ้าแปลตรงตัวก็จะแปลว่า God's willing ซึ่งมักจะใช้ในกรณีที่พูดถึงอะไรก็ตามในอนาคต เช่น "I wish I'll get Bangkok flight tomorrow, Inshallah." ยกให้พระเจ้าเป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่าง ซึ่งหลายครั้งก็เอามาใช้ในกรณีที่ไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น ผู้โดยสารขอเป๊ปซี่ขณะกำลังทำงานยุ่งหัวฟู ก็จะบอกไปว่า "Inshallah" และถ้าในที่สุดลืมให้ผู้โดยไปก็ขอโทษและบอกได้ว่า ก็ Inshallah ไง คือ พระอัลเลาะห์ไม่ได้ประสงค์จะให้เป๊ปซี่คุณกิน อดไปซะ!! 5555+ -Mashallah (มา-ชา-ล่าห์) : ตามที่พระเจ้าต้องการ (หนังสือ 'เด็กเก็บว่าว' ให้นิยามว่า 'สรรเสริญพระเจ้า') คำนี้เป็นคำดีอีกเช่นกัน มักจะใช้ในประโยคที่เวลามีอะไรดี ๆ เกิดขึ้น ก็จะเป็นคำ expression ไว้ต่อท้าย เช่น "คุณมีขนตาที่ยาวสวยมาก, Mashallah" หรือ "เด็กคนนั้นเรียนหนังสือเก่งจริง ๆ, Mashallah" อย่างในหนังสือ 'เด็กเก็บว่าว' ราฮีมข่านก็ใช้ชมอาเมียร์ว่า "คุณมีพรสวรรค์ในการเขียนหนังสือจริง ๆ, Mashallah" เป็นต้น
เกร็ด : ตามความเชื่อศาสนาอิสลาม เชื่อว่ามีเรื่องของไศยศาสตร์และมนต์ดำลึกลับอยู่จริงเหมือนกัน โดยคนที่มีความเกลียดและอิจฉาในใจมาก ๆ จะเป็นผู้สามารถใส่มนต์ดำหรือ Black Magic ใส่คนอื่นได้ เรียกมนต์นี้ว่า Bad Eye หรือ Evil eye เวลาเห็นคนอื่นได้ดีกว่าก็จะเกิดริษยาและใส่มนต์ดำให้คนนั้นเกิดความเสียหายอะไรบางอย่าง เมื่อตอนมาอยู่ใหม่ ๆ พี่ ๆ แอร์เคยเล่าให้ฟังว่าเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงอยู่ เคยมีลูกเรือคนนึงเดินมาชมเขาว่า 'เล็บมือสวยมาก' โดยไม่ได้พูดว่า Mashallah วันต่อมาเล็บพี่เขาก็หักเกือบหมด ดังนั้น เวลาใครมาชมอะไรเรา ต้องบอกให้เขาพูดว่า Mashallah เพื่อเป็นการยกความดีความชอบให้เป็นของพระเจ้าไป แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อดังกล่าวก็แล้วแต่ความเชื่อและวิจารณญาณของแต่ละคนด้วยเช่นกันนะคะ ถือว่าเล่าสู่กันฟังเฮฮาค่ะ
หมวดใช้บนเครื่องบิน หมวดนี้ขอบันทึกไว้เป็นความทรงจำส่วนตัวค่ะ^^ -Shay (ไช) : ชา -Gahwa (กา-หะ-วะ) : กาแฟ -Mine (ไมน์) : น้ำ -Azil (อะ-ซิล) : น้ำผลไม้
-Potugal (โปตุกัล) : ส้ม -Ananas (อะนานัส) : สัปประรด -Magga (มักกะ) : มะม่วง -Gava (กาว้า) : ฝรั่ง
-Dijeol (ดี-ยัย) : ไก่ (ภาษาคูเวต) / Dajaad (ดา-จาด) : ไก่ (ภาษาอียิปต์) -Rubiyan (รูบียัน) : กุ้ง -Samak (ซา-มัก) : ปลา -Laham (ละ-แฮม) : เนื้อ ในที่นี้ใช้กับ แกะ เนื้อวัวและเนื้อหมูด้วย! -Baid (เบด) : ไข่ -Foul (ฝู) : ถั่ว-Chick Peas -Jareeda (จา-รี-ดา) : หนังสือพิมพ์ -Bataniya (บาตานีย์) : ผ้าห่ม -Hammam (ฮัมมัม) : ห้องน้ำ -Sakka Telephone (ซักกะ เตเลโฟน) : ปิดโทรศัพท์ด้วยค่า!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น